คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานเรื่อง “แผนรองรับสถานการณ์ด้านแรงงานหลังวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19” โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่าที่ ร.ต.วิกรม จากที่ ปลัดจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต หอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
โดยมีการรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของขังหวัดภูเก็ต (ข้อมูล ก.ค.63) ระบุว่า มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จำนวน 11,541 แห่ง มีผู้ประกันตน จำนวน 199,516 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 135,285 คน มาตรา 39 จำนวน 32,214 คน และมาตรา 40 จำนวน 32,017 คน โดยมีจำนวนลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนการว่างงาน (กรณีปกติ) ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-30 ก.ค.63 จำนวน 42,978 คน และในส่วนของลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม จำนวน 137,346 ราย และมีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์จำนวนกว่า 1,442 ล้านบาท
ขณะที่ภาคเอกชนได้คาดการว่า หลังจากนี้สถานการณ์ของการว่างงานจะเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา เนื่องจากเศรษฐกิจของภูเก็ตพึ่งกาการท่องเที่ยวมากกว่า 90% และหลังจากนี้จะมีกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างงานมาก ซึ่งส่วนหนึ่งจะเดินทางกลับภูลำเนา และอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้เขามีรายได้ ซึ่งอาจจะเป็นการจ้างงานของภาครัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งต้องช่วยลดรายจ่าย เช่น ค่าประกันสังคม ภาษี เป็นต้น เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้ ตลอดจนการรองรับในส่วนของปรงงานที่เดนทางกลับภูมิลำเนาด้วย
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การมาศึกษาดูงานในจังหวัดภูเก็ตนั้น เพื่อมารับฟังปัญหาด้านสถานการณ์แรงงานของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะภาคแรงงานด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเป็นหลักและที่สำคัญคือต้องพึ่งลูกค้าจากต่างประเทศ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ทำให้สถานประกอบการโดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมและร้านอาหารได้ปิดตัวหรือหยุดกิจการชั่วคราว แม้ทางรัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินประกันสังคมและการช่วยเหลืออื่น ๆ ในภาคของแรงงาน ซึ่งหลังจากนี้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับนั้นก็จะได้นำไปผลักดันในเชิงนโยบายกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป