เมื่อวันที่ 18 พ.ค.61 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 09.00 น. ณ ณ โรงแรม เดอะซเลท ภูเก็ต ท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทภก.ทอท.) จัดงาน “Take off HKT Ready for ASQ” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยาน (Airport Service Quality : ASQ) ของสภาท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International : ACI) และเพื่อให้ ทภก. มีระบบมาตรฐานสากลคอยติดตามคุณภาพการบริการของทุกหน่วย มีความถูกต้องเหมาะสมการใช้งบประมาณในการปรับปรุงการบริการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้น และความร่วมมือจากหน่วยงานในท่าอากาศยาน พร้อมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ “HKT Ready for ASQ” จากนาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค, นายอนันต์ ฉัตรศรัทธา รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพการบริการ, นายธนากร ศรีหมาศ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรการการบินภูเก็ต และพันตำรวจเอกศุภโชค หยงสตาร์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต ในมุมมองการยกระดับคุณภาพการบริการที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) หรือ Thailand 4.0
โดยการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานของ ทภก. เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ทภก., สายการบินและหน่วยงานที่ให้บริการภายใน ทภก. เพื่อยกระดับการให้บริการ และเป็นการกำหนดทิศทางในการให้บริการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานของ ทภก. นั้น จัดอยู่ในประเภท ท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 15 – 25 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทภก. เป็นท่าอากาศยานลำดับที่ 4 ของ ทอท. ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานนำร่องในประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากกว่า 40 ล้านคนต่อปี ตามมาด้วยท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เข้าร่วมในประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 5-15 ล้านคนต่อปี และสามารถคว้ารางวัล อันดับที่ 3 ของโลกในปี พ.ศ.2559 และในปี พ.ศ.2560 ท่าอากาศยานดอนเมืองเข้าร่วมในประเภทท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสาร 25-40 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่เข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยานทั่วโลก 346 ท่าอากาศยาน กระจายอยู่ใน 86 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มีท่าอากาศยานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 99 ท่าอากาศยาน
นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต
นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมโครงการจัดอันดับท่าอากาศยาน (Airport Service Quality : ASQ) หรือ การยกระดับความพึงพอใจของการให้บริการ ถือเป็นนโยบายหนึ่งของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทุกท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งมาในปีนี้เป็นปีที่ท่าอากาศยานภูเก็ตเข้าร่วม เราได้ยื่นสมัครไปยังท่าอากาศยานสากลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในช่วงเดือนกรกฎาคมก็จะเริ่มเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม คิดว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่ท่าอากาศยานภูเก็ตได้เข้าร่วมโครงการนี้อย่างน้อยถือเป็นการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้ามาใช้บริการว่าพอใจมากน้อยแค่ไหน หรือ มีเรื่องไหนที่เราต้องปรับปรุง อีกอย่างที่สำคัญคือ การเข้าร่วมในโครงการนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสนามบินไม่ว่าจะเป็น สายการบิน ตม. พนักงาน ร้านค้าต่างๆ ทุกคนมีส่วนในการผลักดัน โดยใช้เวลาในการประเมิน 3 เดือน เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมปี 61
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ยอมรับว่าในช่วงนี้ท่าอากาศยานภูเก็ตที่ยังอยู่ในช่วงการปรับปรุง โดยเฉพาะในส่วนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประเมินแน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากเดือนมิถุนายนทุกอย่างที่กำลังปรับปรุงในตอนนี้จะเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระบบปรับอากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เราได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอด ซึ่งจากการได้ลงตรวจสอบหน้างานการดำเนินการปรับปรุงในด้านต่างๆ ยังเป็นไปตามกำหนด ยืนยันว่าวันที่ 1 มิ.ย.61 ทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย และจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิ.ย.61
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า จริงๆ แล้วตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ปี 53-57 จะรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคน เป็น 12.5 ล้านคน ปัจจุบันเรายังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแต่กลับมีปริมาณผู้โดยสารกว่า 16.8 ล้านคน ถือว่าเกินขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ทีนี้ถามว่าท่าอากาศยานภูเก็ตจะขยายอีกได้หรือไม่ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก ดังนั้น นโยบายของผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า อาจจะต้องสร้างแห่งใหม่เพิ่มเป็นท่าอากาศยาน ภูเก็ต-พังงา ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการหาข้อมูลอยู่ ยังต้องหาพื้นที่ในการก่อสร้างที่ต้องใช้ประมาณ 4,700 ไร่ เบื้องต้นได้มีการกำหนดพิกัดในการก่อสร้างไว้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องสนามบินแห่งใหม่ยังเป็นเรื่องของนโยบายอาจจะยังมีการเปลี่ยนแปลงได้