ผอ.ททท.ภูเก็ต คาดประเพณีถือศีลกินผัก เงินสะพัดกว่า 500 ล้านตลอด 9 วัน 9 คืน ระบุนักท่องเที่ยวต่างชาติจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ปริมาณขยับเป็นบวก ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยจองโรงแรมที่พักใกล้อ๊ามแล้วกว่า 44%
นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภูเก็ต เผยว่า งานประเพณีถือศีลกินผักหรือ เจี๊ยะฉ่าย นั้น เป็นประเพณีที่สำคัญของคนภูเก็ต เป็นประเพณีใหญ่ที่ชาวภูเก็ตได้ร่วมกันสืบสานและดำรงไว้มาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกไปแล้ว ซึ่งจะขึ้นเป็นประจำทุกปีในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ซึ่งงานประเพณีถือศีลกินผักนอกจากจะเป็นการละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการแสดงพลังความศรัทธา ความสามัคคีของพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต
ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้ทำการประชาสัมพันธ์ประเพณีถือศีลกินผักเป็นประจำทุกๆ ปี ในช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะในปี 2561 นี้ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากพอสมควร โดยจากการสอบถามอัตราการเข้าพักจากโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต และโรงแรมในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ใกล้ๆ กับศาลเจ้าต่างๆ จนถึงขณะนี้มีอัตราการจองห้องพักเข้ามาแล้วประมาณ 65% ของจำนวนโรงแรมทั้งหมดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ใกล้ๆ กับประเพณีถือศีลกินผัก น่าจะมียอดจองห้องพักเพิ่มมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะตัดสินใจในนาทีสุดท้าย (Last Minute)เสียส่วนใหญ่
นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภูเก็ต
“สำหรับในช่วง 9 วัน 9 คืน ของเทศกาลถือศีลกินผัก น่าจะสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งอัตรานักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประสงค์จะเข้ามาจังหวัดภูเก็ตในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 44% ในขณะที่ต่างชาติจะพบว่ามีปริมาณเป็นบวกขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 11% ทั้งนี้สืบเนื่องจากในปีที่ผ่านมาไม่มีกิจกรรมในส่วนของขบวนแห่พระ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของประเพณีถือศีลกินผัก เป็นกิจกรรมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์จริงของขบวนแห่ ซึ่งในปีนี้มีกิจกรรมเต็มรูปแบบตามปกติ ก็คากว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาสัมผัสและร่วมขบวนแห่พระค่อนข้างมากพอสมควรเลยทีเดียว” นางกนกกิตติกา กล่าว
ในส่วนของรายได้ช่วงประเพณีถือศีลกินผักตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน ประมาณการณ์เอาไว้ว่าน่าจะแตะที่ 500 ล้านบาท เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ซึ่งถ้าหากคิดรวมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่จะเข้ามาในช่วงเวลานั้นแล้ว รวมการท่องเที่ยวทางทะเลเข้าไปด้วย รายได้น่าจะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นรายได้ที่กระจายสู่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง รวมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วย ค่าใช้จ่ายหลักๆ นอกเหนือจากค่าที่พักแล้ว ก็จะเป็นในเรื่องของอาหารการกิน ทั้งอาหารเจบริเวณหน้าศาลเจ้า และมีในส่วนของร้านค้าอื่นๆ โรงแรมในบริเวณที่ใกล้เคียงกับศาลเจ้า และโรงแรมต่างๆ ที่ตระเตรียมอาหารเจสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จนถึงตอนนี้ก็ยังพอมีห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะจองเข้าพักก่อนประเพณีถือศีลกินผักอีกพอสมควร
สำหรับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่ไม่มีพื้นที่ในการตั้งโต๊ะรอรับขบวนแห่พระ ทางเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดสาธิตการตั้งโต๊ะบูชาของไหว้พิธีอิ้วเก้ง (แห่พระรอบเมือง) ณ บริเวณลานนวมินทร์ 72 พรรษา ได้จัดเตรียมในเรื่องของผลไม้ ธูปเทียน รวมไปถึงกระดาษทองให้กับทุกท่านที่ต้องการร่วมในพิธีแห่พระหรือพิธีอิ้วเก้ง ทุกท่านสามารถไปร่วมได้ที่หน้าลานนวมินทร์