ทำไมต้องต่อต้าน?
เป็นเรื่องปกติที่ทุกวันนี้เราจะเห็น “ร้านสะดวกซื้อ” หรือ “Convenient Store” ปรากฏให้เห็นในแทบทุกตรอกซอกซอย ซึ่งในฐานะผู้บริโภคนั่นถือเป็นเรื่องดีเพราะการมีร้านสะดวกซื้อมาก มันก็หมายถึงความสะดวกของชีวิตที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามในมุมกลับกันในหลายๆ พื้นที่การเข้าไปตั้งของร้านสะดวกซื้อมักจะส่งผลทำลายธุรกิจดั่งเดิมของคนในพื้นที่นั้นๆ ทำให้บ่อยครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่าร้านสะดวกซื้อจะเข้าไปตั้งที่ใดที่หนึ่งก็มักจะเกิดกระแสการต่อต้าน
พื้นที่ชุมชน “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เกิดการต่อต้านการเข้ามาตั้งของร้านสะดวกซื้อ 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น)
ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต อธิบายถึงเหตุผลของการออกมาต่อต้านว่า ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “เมืองเก่า” ก่อนว่ามันคืออะไร สิ่งที่เรียกว่า “เมืองเก่า” เราจะมองแค่มิติของสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม สิ่งที่เป็นของเก่า แค่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่เรียกว่า “เมืองเก่า” มันต้องรวมถึงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การทำมาหากินของคนในชุมชนด้วย ที่ผ่านมาคนในชุมชนย่านเมืองเก่าได้ช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาเมืองเก่าภูเก็ตขึ้นมา ก็เพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนภูเก็ต ต้องการให้ลูกหลานที่ไปเรียนจบมาได้กลับมาทำงาน กลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิดด้วยการนำต้นทุนที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ให้ดำรงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนทำให้ปัจจุบัน “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ถือเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว แน่นอนเมื่อพื้นที่ตรงนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในแง่ของนักธุรกิจเขาย่อมเห็นถึงโอกาสที่จะเข้ามาทำธุรกิจ จนกระทั่งมีความพยายามจะเข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่ตรงนี้ของร้านสะดวกซื้อ 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น)
เรามองว่าการเข้ามาตั้งของ 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น) ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต จะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น) ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีมูลค่ามหาศาล หาก 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น) สามารถเข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่ตรงนี้ได้สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ ธุรกิจรายเล็กรายย่อย ซึ่งเป็นธุรกิจของคนส่วนใหญ่ในชุมชนจะโดนทำลายลงอย่างแน่นอน อีกอย่างที่สำคัญคือหาก 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น) สามารถเข้ามาได้แล้วในอนาคตมั่นใจได้เลยว่าธุรกิจในรูปแบบเดียวกันของบริษัทอื่นๆ ก็จะเข้ามาเช่นกัน
ให้ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราไปเที่ยวเมืองเก่าแต่สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นร้านค้าทันสมัยแล้วต่อไปใครจะมา ที่ผ่านมาถ้าไปศึกษาเมืองเก่าที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาคนในพื้นที่นั้นๆ ไม่สามารถ ประกอบอาชีพได้ ไม่สามารถรักษาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ความเป็นรากเหง้าของชุมชนนั้นๆ ไว้ได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นคำว่า “เมืองเก่า” ก็จะตายไปในที่สุด นั้นคือเหตุผลที่ผมและคนในชุมชนต้องออกมาต่อต้าน สิ่งที่เราเรียกร้องคือ เราขอได้ไหมว่าพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ที่เป็นย่านเมืองเก่า เป็นพื้นที่ไข่แดงตรงนี้อย่าเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ก็ยอมรับว่าแคมเปญการออกมาต่อต้านในครั้งนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อปี 2559 มีคนเห็นด้วยกับการต่อต้าน 56.34% ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้าน 38% และ ไม่ออกความเห็น 5.66% แต่ยืนยันจะมีการรณรงค์คัดค้านอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุดแล้ว บทสรุป หรือ ตอนจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรคงตอบไม่ได้ในตอนนี้ แต่อย่างน้อยการออกมาต่อต้าน คัดค้านในครั้งก็เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เขาต้องการอะไร